“บัญชีแก้มลิง” กับสังคมพอประมาณ

ความเป็นมาของ “บัญชีแก้มลิง” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชกระแสอธิบายว่า ลิงโดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อน ลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวี หรือเต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อยๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนำพฤติกรรมของลิงที่นำกล้วยมาสะสมไว้ที่กระพุ้งแก้มก่อนกลืนกินเป็นตัวอย่างในการระบายน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขัง โดยมีพระราชดำริให้กรมชลประทานก่อสร้างบ่อพักน้ำขนาดใหญ่บริเวณใกล้ชายทะเล เพื่อรองรับน้ำท่วมที่ไหลมาตามลำคลองธรรมชาติและคลองขุดใหม่ และก่อสร้างประตูระบายน้ำ เพื่อระบายน้ำลงทะเลในช่วงที่น้ำทะเลลดลง ปิดประตูระบายน้ำเมื่อน้ำทะเลขึ้น เพื่อป้องกันมิให้น้ำทะเลไหลเข้ามาท่วมพื้นที่  

โครงการแก้มลิง “คลองมหาชัย-คลองสนามชัย” และโครงการแก้มลิง “แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง” เป็นตัวอย่างโครงการที่พัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิดแก้มลิงเพื่อแก้ไขและป้องกันน้ำท่วมอย่างเป็นระบบ สามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากแนวคิดแก้มลิงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ โดยการพักน้ำในลักษณะ “แก้มลิง” ที่ช่วยเสริมให้การแก้ไขและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพนั้น ได้เปิดโอกาสให้พสกนิกรเห็นแนวทางในการนำเอาแนวคิดแก้มลิงมาประยุกต์ใช้กับการแก้ไขปัญหาในเรื่องอื่นๆ ได้อีก อาทิ การแก้ไขและป้องกันปัญหาหนี้สิน โดยเปรียบเทียบการไหลออกของเงินในกระเป๋า คล้ายกับการไหลบ่าของน้ำที่สร้างปัญหาหากไม่มีการบริหารจัดการที่ดี

หลักการ “แก้มลิง” ทางการเงิน

ในการบริหารจัดการเงินรายได้ของบุคคลหนึ่งๆ มีหลักทั่วไปอยู่ว่า รายได้ที่หามาได้จะถูกนำมาใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีวิต ที่เหลือจากการใช้จ่ายจึงเก็บเป็นเงินออม ภายใต้สมการง่ายๆ ว่า “รายได้ – รายจ่าย = เงินออม” แต่สิ่งที่ปรากฏจริงในวิถีชีวิตของผู้คนภายใต้กระแสวัตถุนิยมในปัจจุบันที่มุ่งแต่กระตุ้นให้บริโภคใช้จ่ายอย่างเกินตัว ทำให้ไม่สามารถเหลือเงิน
จากการใช้จ่ายมาเก็บออมได้

สมการที่ว่าจึงกลายเป็น “รายได้ – รายจ่าย = หนี้สิน”

การแก้ไขปัญหาในเบื้องแรกนั้น จำต้องปลูกฝังทัศนคติของการออมเงินก่อนการใช้จ่ายหรือสร้างค่านิยมให้เกิดการออมเงินส่วนหนึ่งขึ้นมาก่อนใช้จ่าย โดยดัดแปลงสมการเป็น “รายได้ – เงินออม = ค่าใช้จ่าย” ทั้งนี้ เพื่อสร้างวินัยทางการเงินให้เกิดเป็นภูมิคุ้มกันต่อกระแสบริโภคนิยมขึ้นในระดับหนึ่ง เสมือนกับการสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉินหรือเมื่อประสบภัยแล้ง ในขั้นแรกนี้ จึงเป็นเรื่องของการบริหารจัดการในส่วนที่เป็นเงินออม

ขั้นต่อมาเป็นเรื่องของการบริหารจัดการในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่าย โดยมีหลักอยู่ว่า ท่ามกลางกระแสบริโภคนิยมที่ประชาชนถูกกระตุ้นให้จับจ่ายใช้สอยในหลากหลายรูปแบบ อีกทั้งมีการสร้างบริการทางการเงินที่เอื้อต่อการใช้จ่ายสารพัดวิธี อาทิ บัตรเครดิตที่ส่งเสริมให้ใช้จ่ายเงินล่วงหน้า บริการผ่อนชำระค่าสินค้าในอัตราดอกเบี้ย 0% ที่ส่งเสริมการเป็นหนี้โดยอัตโนมัติ ซึ่งเปรียบเสมือนการกระตุ้นกิเลสหรือความต้องการบริโภค (Desire) สำทับด้วยการขยายกำลังการซื้อ (Purchasing Power) โดยการนำรายได้ในอนาคตมาเป็นหลักประกัน

ด้วยเหตุนี้ วิธีในการป้องกันและบรรเทาปัญหาหนี้สินจากการใช้จ่ายเกินตัว จึงจำต้องลดทอนกำลังของกิเลสหรือความต้องการบริโภคในแบบทันทีทันใด ด้วยการชะลอหรือยืดการใช้จ่ายออกไปเป็นระยะเวลาหนึ่ง ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่า ธรรมชาติของความต้องการหรือกิเลส ณ เวลาที่เกิดขึ้นหรือได้รับการกระตุ้นในขณะนั้น จะลดถอยลงเมื่อเวลาผ่านไป เปรียบเสมือนการพักน้ำไว้ชั่วคราว (ในกรณีนี้ คือ ค่าใช้จ่ายที่พร้อมจะจ่ายออกไปในขณะนั้น) ในภาวะที่ไม่เป็นปกติ (กิเลสนำ) ก่อนที่จะพิจารณาระบายน้ำ (ในกรณีนี้ คือ ค่าใช้จ่ายที่ถูกบริหารจัดการแล้ว) ออกในภาวะที่เป็นปกติ (ปัญญานำ) เป็น “แก้มลิง” ที่ใช้ในการบริหารจัดการเรื่องค่าใช้จ่าย นอกเหนือจาก “เขื่อน” ที่ใช้ในการบริหารจัดการเรื่องเงินออม

สู่การปฏิบัติด้วย “บัญชีแก้มลิง” ระดับบุคคล

การนำแนวคิด “แก้มลิง” ไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม อาจเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการชะลอการใช้จ่ายในส่วนที่ไม่ใช่ของกินของใช้ประจำวัน เช่น การช็อปปิ้ง ดูหนังฟังเพลง หรือกิจกรรมสันทนาการอื่นๆ ออกไปอยู่ในช่วงครึ่งเดือนหลังของทุกเดือน ทั้งนี้ เพื่อที่จะได้เห็นเงินคงเหลือในแต่ละเดือนว่าเพียงพอต่อการจับจ่ายใช้สอยในกิจกรรมหรือรายการดังกล่าวหรือไม่ เป็นการลดปริมาณหรือจำนวนครั้งของการใช้จ่ายในแต่ละเดือนลง ซึ่งในหลายกรณี กิจกรรมหรือรายการดังกล่าวนั้น สามารถที่จะละเว้นหรือยกเลิกได้เมื่อเวลาผ่านไป

มีข้อสังเกตว่าในช่วงต้นเดือนนั้น มักมีกิจกรรมกระตุ้นการจับจ่ายในลักษณะของการให้ส่วนลดหรือของแถมพิเศษ เนื่องจากเห็นว่าผู้บริโภคเพิ่งได้รับรายได้เงินเดือนและมีกำลังซื้อ พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยและเงินเดือนที่ร่อยหรอจึงมักเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์แรกของเดือน จึงควรพิจารณาหลีกเลี่ยงการถูกกระตุ้นกิเลสหรือความต้องการบริโภคในลักษณะดังกล่าว

ในกรณีของการจับจ่ายใช้สอยสำหรับรายการของชิ้นใหญ่ โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีมูลค่าเกินกว่าร้อยละ 50 ของเงินเดือน ให้ใช้วิธีชะลอการตัดสินใจออกไปอีก 1 เดือน เพื่อให้โอกาสตัวเองในการพิจารณาทบทวนการตัดสินใจอีกครั้งว่ามีความจำเป็นต้องซื้อจริงหรือไม่เมื่อผ่านไปแล้ว 1 เดือน โดยให้นำเงินก้อนดังกล่าวฝากไว้ในบัญชีออมทรัพย์ที่เปิดใหม่สำหรับใช้เป็น “บัญชีแก้มลิง” โดยเฉพาะ แยกต่างหากจากบัญชีออมทรัพย์เดิม ทั้งนี้เพื่อให้เห็นความเคลื่อนไหวของ “ค่าใช้จ่าย” ที่ได้รับการบริหารจัดการ แยกจาก “เงินออม” ซึ่งถูกกันสำรองไว้ก่อนหน้าการใช้จ่ายจากส่วนหนึ่งของเงินเดือน (สัดส่วนของเงินออมที่แนะนำคือร้อยละ 25 ของเงินเดือน)

ยอดเงินที่ปรากฏในบัญชีแก้มลิงอาจมีการระบุชื่อรายการสินค้าหรือบริการที่ต้องการกำกับไว้ด้วยก็ได้ เพื่อเป็นการเตือนความจำว่ายอดเงินจำนวนดังกล่าวนี้มาจากการบริหารจัดการมูลค่าใช้จ่ายของรายการสินค้าฟุ่มเฟือยใด ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป 1 เดือน หากยังมีความจำเป็นต้องใช้สินค้าหรือบริการนั้นอยู่ จะได้ถอนเงินออกจากบัญชีแก้มลิงดังกล่าวมาจับจ่ายใช้สอย โดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับเงินออมในบัญชีออมทรัพย์เดิม ทั้งยังเป็นการช่วยยับยั้งการนำเงินรายได้ในอนาคตมาใช้จ่ายกับสินค้าฟุ่มเฟือยที่อาจสร้างปัญหาภาระหนี้สินขึ้นภายหลัง

สู่การปฏิบัติด้วย “บัญชีแก้มลิง” ระดับองค์กร

องค์กรในทุกระดับชั้น ไม่ว่าจะเป็น บริษัทเอกชน หน่วยงานราชการ หรือสถาบันการศึกษา สามารถมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายของพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ในองค์กรด้วย “บัญชีแก้มลิง” โดยแทนที่พนักงานหรือเจ้าหน้าที่แต่ละคนจะเปิดบัญชีแก้มลิงส่วนตัวเอง องค์กรจะเป็นผู้เปิดบัญชีแก้มลิงในนามขององค์กร และเชิญชวนให้พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ในองค์กรนำเงินก้อนสำหรับรายการของชิ้นใหญ่ซึ่งมีมูลค่าเกินกว่าร้อยละ 50 ของเงินเดือน ที่ถูกชะลอการใช้จ่ายมาฝากไว้ในบัญชี มีฐานข้อมูลกลางที่บันทึกชื่อรายการสินค้าหรือบริการที่ต้องการกำกับในแต่ละยอดเงิน โดยเมื่อเวลาผ่านไป 1 เดือน หากยังมีความจำเป็นต้องใช้สินค้าหรือบริการนั้นอยู่ ก็สามารถเบิกถอนได้

หากสามารถยืดเวลาการใช้จ่ายออกไปจนครบ 2 เดือน และเป็นสินค้าที่มีความต้องการตรงกันหลายคน องค์กรจะทำหน้าที่รวบรวมความต้องการให้แก่สหกรณ์ร้านค้า เพื่อให้ได้ราคากลุ่มหรือส่วนลดพิเศษ หรือในกรณีที่เป็นสินค้าซึ่งมีพนักงานบางคนต้องการขาย องค์กรจะทำหน้าที่สื่อสารข้อมูลเพื่อให้พนักงานสามารถจับคู่ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันในราคามิตรภาพ

และหากสามารถยืดเวลาการใช้จ่ายออกไปจนถึงสิ้นปี องค์กรสามารถจัดกิจกรรมตอบแทนพนักงานที่เข้าร่วมโครงการเป็นของขวัญส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ โดยการนำดอกผลที่ได้จากยอดรวมเงินต้นทั้งหมดที่คงเหลืออยู่ในบัญชีแก้มลิง ณ วันสิ้นงวดปีนั้น มาจับฉลากโดยมอบเป็นสินค้าหรือบริการตามที่พนักงานคนนั้นๆ ต้องการซื้อตั้งแต่แรก จนกระทั่งครบมูลค่าดอกผลที่ได้จากบัญชีแก้มลิง โดยพนักงานที่เข้าร่วมโครงการทุกคน จะได้รับเงินต้นคืนเต็มตามจำนวนที่ฝากไว้ เป็นโบนัสพิเศษที่เกิดจากการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายด้วยตัวเอง