กำเนิดโมโซไซตี้

     จุดกำเนิดของสังคมพอประมาณ (Moderation Society: MOSO) หรือ โมโซไซตี้ เริ่มต้นเมื่อปี 2548 จากงานวิจัยของสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้การนำของ ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นผู้ให้ทุนสนับสนุน เพื่อสร้างขบวนเคลื่อนไหว (movement) ในสังคมให้เกิดความตระหนักในการใช้ชีวิตอย่างพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

แนวคิดโมโซไซตี้มาจากการสำรวจทัศนคติของกลุ่มตัวอย่าง ที่เป็นนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ โดยมีโจทย์ว่า หากจะร่วมกันสร้างสังคมที่มีแนวปฏิบัติสอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จะมีรูปแบบในการขับเคลื่อนอย่างไรที่เยาวชนและคนรุ่นใหม่ต้องการจะเห็น

ผลการสำรวจเผยให้เห็นโครงแบบที่เปิดกว้าง มีอิสระและเสรีภาพในการเลือกที่จะเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างสะดวก มีผู้ร่วมในกลุ่มที่คอยเป็นพี่เลี้ยงหรือให้คำแนะนำ สมาชิกมีการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน พร้อมร่วมเดินไปข้างหน้าอย่างอบอุ่นใจ

โมโซไซตี้ จึงถูกออกแบบให้เป็นเครือข่ายเปิด ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีการตั้งองค์กรมาควบคุมดูแล ไม่มีคณะกรรมการผู้มีอำนาจหน้าที่ในเครือข่าย หากผู้ใดมีวิถีปฏิบัติที่อยู่ในแนวทางสายกลาง ไม่สุดโต่งไปทางด้านใดด้านหนึ่งตามกลุ่มที่เรียกว่า “ไฮโซ” หรือ “โลโซ” ก็สามารถเรียกตัวเองว่าเป็น “ชาวโมโซ” ได้โดยไม่ต้องสมัครเป็นสมาชิกกับหน่วยงานหรือองค์กรใดๆ

ค่านิยมร่วมสำหรับชาวโมโซ ก็คือ การสร้างสังคมอันพึงปรารถนาที่ประกอบไปด้วยความจริง ความดีงาม และความสุข ด้วยคติพจน์ประจำใจของชาวโมโซ คือ “เน้นสติ เหนือสตางค์”