MOSOCIETY สุขแบบพอเพียงตามคำพ่อ

ภายหลังจากพระบรมราโชวาทในครั้งนั้นถูกนำมาถ่ายทอด คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ก็เริ่มเป็นคำที่มีการพูดถึงกันอย่างแพร่หลายว่าแต่ละคนกลับตีความและนำไปใช้แตกต่างกัน กระทั่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยและทรงพระกรุณาปรับปรุงแก้ไขบทความเรื่อง “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ใหม่และทรงพระราชทาน พระบรมราชานุญาตให้นำไปเผยแพร่ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของทุกฝ่ายและประชาชนโดยทั่วไป
แม้ความเข้าใจในตัวหลักการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะมีมากขึ้นในสังคมไทย แต่ถึงอย่างไรก็ยังไม่สามารถสื่อให้คนทุกชนชั้นเข้าถึง และนำไปปรับใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยหลายคนยังคงเข้าใจว่าเป็นหลักการที่ใช้ได้เฉพาะกับเกษตรกร และวิถีชีวิตในชนบทเท่านั้น อีกทั้งคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมก็ยังคงมองว่าหลักปรัชญาดังกล่าวเป็นเรื่องไกลตัว
การวิจัยเพื่อนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เข้าถึงและแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่จึงเกิดขึ้น ภายใต้ชื่อของ MOSOCIETY

สถาปนาโมโซไซตี้
เท้าความไปปี พ.ศ. 2548  สถาบันไทยพัฒน์  มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้รับทุนวิจัยจากกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. ให้ทำการวิจัยเพื่อค้นหาหน่วยงานหรือองค์กรที่นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
“ดร.พิพัฒน์   ยอดพฤติการ”  ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์และหัวหน้าทีมวิจัย เล่าถึงการรับรู้ของภาคประชาชนในช่วงเวลานั้นว่าคนส่วนใหญ่ยังคงเข้าใจว่าแนวคิดนี้ใช้สำหรับภาคเกษตรกรรม เป็นเรื่องเรือกสวนไร่นาเท่านั้น โครงการนี้จึงเกิดขึ้นมาเพื่อปรับมุมมองใหม่ให้คนในสังคมได้ตระหนักว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้จำกัดอยู่แค่สังคมเกษตรกรรมในชนบทเท่านั้น แต่สังคมเมืองที่ขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ ก็สามารถนำหลักการนี้มาใช้ได้เช่นกัน
เมื่อนำโจทย์มากะเทาะ ทีมวิจัยภายใต้การนำของ ดร.พิพัฒน์ก็พบว่าหนึ่งในแนวคิดหลักเศรษฐกิจพอเพียง มีคำว่าพอประมาณ หรือ MODERATION   ปรากฏอยู่ ซึ่งเป็นคำที่ทางทีมงานวิจัยประเมินแล้วว่าน่าจะเป็นคำที่เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด กอปร กับเมื่อมองดูสภาพในสังคมที่มีการแบ่งชนชั้น เรียกกลุ่มคนชั้นสูงที่ใช้ชีวิตหรูหราว่า “ไฮโซ และเรียกกลุ่มคนชั้นล่างที่มีวิถีชีวิตแตกต่างว่า “โลโซ” แล้ว MODERATION  ซึ่งเป็นทางสายกลาง ที่ไม่สุดโต่งเหมือนไฮโซ และ โลโซ ก็น่าจะมีตัวตนในสังคมด้วยเช่นกัน จึงคิดสถาปนาสังคมพอประมาณ หรือ MODERATION  SOCIETY (MOSO) ขึ้นมา  เพื่อให้คนกลุ่มหนึ่งที่มีวิถีปฏิบัติอยู่ในทางสายกลางได้มีที่ทางในสังคมเป็นของตนเอง

กะเทาะเปลือกชาวโมโซ
เป้าหมายแรกของงานวิจัยครั้งนี้ คือการนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมารณรงค์ให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ ทางทีมวิจัยจึงลงมือสำรวจทัศนคติของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักศึกษา และคนรุ่นใหม่ ภายใต้โจทย์ว่า หากจะร่วมกันสร้างสังคมที่มีแนวปฏิบัติสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะมีรูปแบบในการขับเคลื่อนอย่างไรที่เยาวชนและคนรุ่นใหม่ต้องการเห็น
ข้อสรุปที่ได้คือ คนยุคดิจิตอลไม่ต้องการดำเนินกิจกรรมภายใต้ปีกขององค์กรหรือหน่วยงานที่เป็นทางการ ที่ต้องมีคณะกรรมการหรือการสมัครเป็นสมาชิก  แต่คนรุ่นใหม่หัวใจพอเพียงต้องการเครือข่ายเปิด ที่มีอิสระและเสรีภาพในการเลือกที่จะเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆได้อย่างสะดวก ไม่ต้องมีพิธีตรอง ทว่ามีความยืนหยุ่นในการเข้าร่วมกิจกรรม
ใครใคร่ทำก็ทำ ใครไม่สะดวกก็ไม่ต้องเข้าร่วม โมโซไซตี้  จึงถูกออกแบบมาให้เปิดกว้างสำหรับทุกเพศทุกวัย และทุกองค์กร โดยนิยามคนรุ่นใหม่ของชาวโมโซไม่ได้มีอายุเป็นกำแพงกีดกั้นในการทำกิจกรรม ใครก็ตามที่เตรียมพร้อมในการปรับตัว และเปิดกว้างรับสิ่งใหม่ๆ รับแนวคิดต่างๆ ในสังคมยุคใหม่ได้ โดยพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ก็เป็นคนรุ่นใหม่ในโมโซไซตี้ได้โดยปริยาย

อยากเข้าสังคมโมโซ…ต้องทำอย่างไร
อ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่า โมโซไซตี้จะต้องปลีกวิเวกแยกตัวออกไปสร้างสังคมใหม่ แท้จริงแล้วชาวโมโซยังคงอาศัยอยู่ในสังคมเดิม  เพียงแต่สภาพสังคมปัจจุบันมีสิ่งยั่วยุทางวัตถุมากจนเกินไป จนทำให้เกิดการแข่งขันไปในทางอยากมี อยากเป็นและอยากได้ กระทั้งกลายเป็นบูชาลัทธิบริโภคนิยม ด้วยเชื่อว่า ยิ่งได้บริโภคมาก ยิ่งมีความสุขมาก จึงเป็นรูปแบบการใช้ชีวิตที่ไม่สอดคล้องกับแนวคิดสังคมพอประมาณ
ความสุขของชาวโมโซ ไม่ได้เกิดจากการซื้อของกินของใช้ราคาแพงๆ หรือต้องจับจ่ายใช้สอยให้มากๆ แต่ชาวโมโซเชื่อว่า ความสุขที่ยั่งยืน เกิดจากการบริโภคอย่างเหมาะสม ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไปเป็นไปตามอัตภาพ และความสุขของชาวโมโซ ยังเกิดจากการที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น ทำตัวเป็นพลเมืองดีของสังคมช่วยเหลือ และแบ่งปันกับผู้ที่ด้อยโอกาสกว่า โดยมีคติพจน์ประจำใจ ที่จำได้ง่ายๆ ว่า “เน้นสติ  เหนือสตางค์”
นั่นหมายความว่า ใครก็ตามที่มีพฤติกรรมหรือวิถีชีวิตเข้าข่ายดังกล่าวก็เรียกตัวเองว่าเป็นชาวโมโซได้ แม้แต่ไฮโซก็เป็นชาวโมโซได้ หากรู้จักใช้จ่ายเงิน ไม่สุรุ่ยสุร่ายในการใช้ชีวิต หรือกระทั่งเด็กๆ หากช่วยเหลือพ่อแม่ทำงานบ้าน ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน และรู้จักประหยัด ก็ถือว่าได้ปฏิบัติตนเป็นส่วนหนึ่งของชาวโมโซแล้ว ส่วนในวัยทำงานหรือคนทั่วไปเพียงแค่มีความคิดที่อยากเป็นคนดี อยากทำความดี ก็เป็นชาวโมโซได้เช่นกัน
แม้แต่หน่วยงานหรือองค์กรใดที่มีการขับเคลื่อนกิจกรรมตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก็สามารถนำแนวคิดของโมโซไปประยุกต์ใช้ได้อย่างอิสระ เพราะโมโซไซตี้เป็นเครือข่ายเปิด ที่ทุกคนสามารถร่วมกันคิดและออกแบบกิจกรรมให้มีความเหมาะสมกับหน่วยงานหรือสภาพท้องถิ่นของตนไปพร้อมกับการเปิดกว้างให้ทุกคนมีสิทธิ์เข้าร่วมในกิจกรรมของหน่วยงานอื่นที่มีความสอดคล้องกับหลักการของโมโซไซตี้ได้อย่างเสรี โดยสามารถปฏิเสธ และตอบรับในกิจกรรมที่คิดว่าน่าสนใจได้ โดยไม่มีพันธะสัญญาใดๆ ผูกมัดไว้ ขอเพียงแต่ตัวเราเองมีความพร้อมเป็นพอ

สัญลักษณ์แห่งชาวโมโซ
ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงยังไม่แพร่หลายเท่าปัจจุบัน  แนวคิดดังกล่าวสร้างความท้าทายในการทำงานให้กับทีมวิจัยของ ดร.พิพัฒน์ เป็นอย่างมาก เพราะจะต้องถอดรหัสหลักทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงที่หลายคนยังเข้าไม่ถึง ให้ออกมาในรูปแบบของการปฏิบัติที่เข้าใจได้ง่าย ทีมงานจึงระดมสมอง คิดถึงรูปแบบในเชิงสัญลักษณ์ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ขึ้นมา กอปรกับในขณะนั้นกระแสของสายรัดข้อมือเรารักในหลวง กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ทีมวิจัยจึงสรุปกันว่าหากนำสายรัดข้อมือมาใช้เป็นสื่อในการเข้าถึงแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง  “สายรัดข้อมือสีฟ้า” ที่สลักตัวอักษรสังคมพอประมาณ Moderation  Society  พร้อมลำดับเลขสมาชิก จึงเกิดขึ้น
ดร.พิพัฒน์  กล่าวย้ำว่า  การเป็นชาวโมโซไม่จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ส่วนรหัสตัวเลขที่ปรากฏบนสายข้อมือนั้นเป็นเพียงช่องทางที่ช่วยให้ชาวโมโซรับทราบข่าวสารกิจกรรมต่างๆ ของโมโซไซตี้ด้วย  การนำรหัสดังกล่าวไปลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์ www.mosociety.com อีกทั้งรหัสดังกล่าวนี้ยังเป็นอีกหนึ่งวิธีในการสร้างตัวตนให้ผู้ที่อยากมีสังกัดได้มีไอเด็นติตี้ว่าพวกเขาเข้าร่วมสังคมโมโซเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยสายรัดข้อมือดังกล่าวจะเป็นเหมือนสติเตือนใจผู้สวมใส่ให้ใช้ชีวิตอย่างพอประมาณ ไม่ฟุ้งเฟ้อจ่ายเงินโดยไม่ยั้งคิด เพราะทุกครั้งที่ยื่นมือออกไปจ่ายเงิน ก็จะเห็นสายรัดข้อมือสีฟ้าแห่งสังคมพอประมาณ คอยเตือนใจว่าการใช้เงินแต่ละครั้งมีความเหมาะสมหรือไม่
จากนั้นจึงเกิดสัญลักษณ์ตัวที่สองของโครงการ “บัญชีแก้มลิง” ที่ดำเนินการภายใต้คติพจน์ “เน้นสติ  เหนือสตางค์”  โดยบัญชีแก้มลิงนี้จะประยุกต์ให้เข้ากับการใช้จ่ายเงิน ภายใต้หลักคิดง่ายๆ ว่า ก่อนจะจ่ายเงินซื้ออะไร ให้จดบันทึกรายละเอียดของสิ่งนั้นพร้อมราคาลงในบัญชีแก้มลิงก่อน แล้วกำหนดเวลาในการซื้อ 7 วัน 15 วัน 30 วัน
หรือแล้วแต่เรากำหนด เพื่อให้เวลาในการใช้สติไตร่ตรองว่าของสิ่งนั้นมีความจำเป็นต้องซื้อจริงๆ หรือไม่
ดร.พิพัฒน์ อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักคิดนี้ว่า  เป็นการใช้กุศโลบายในเรื่องของความต้องการที่จะลดลงเมื่อเราทอดเวลาไประยะหนึ่งจากที่ต้องการอยากได้มากๆ เมื่อเวลาผ่านไป จะได้สติมากขึ้นว่าของบางอย่างไม่ได้มีความจำเป็นในการใช้งานแล้ว  เราจึงไม่ต้องเสียเงินซื้อ เมื่อได้สติก็จะเก็บสตางค์ได้เพิ่มขึ้น  บัญชีแก้มลิงจึงช่วยในเรื่องของการบริหารค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมต่อเนื่องในรูปแบบของเครือข่าย Free cycle แหล่งพบปะแลกเปลี่ยนของไม่ใช้แล้ว ภายใต้แนวคิดที่ว่าของบางอย่างที่เรากำลังจะโละทิ้งแต่ยังมีสภาพดีอยู่ อาจทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้ โดยการโพสต์ข้อความทาง yahoo group ว่าใครอยากให้ อยากบริจาคอะไร หรือใครอยากได้ของอะไร เมื่อความต้องการตรงกันก็สามารถนัดพบแลกเปลี่ยนสิ่งของกันได้อย่างสะดวก
เครือข่ายดังกล่าวนี้เป็นองค์กรเอ็นจีโอที่ไม่แสวงหาผลกำไร เริ่มต้นครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกา มีประเทศที่สนใจเข้าร่วมกว่า 32 ประเทศ มีผู้เข้าร่วมเครือข่ายหลายล้านคน  โดยใช้ความเป็นเมืองในการขยายเครือข่าย  ทางโครงการเห็นว่าหลักการของ Freecycle  เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยปรับจิตสำนึกของชาวโมโซให้รู้จักการเสียสละได้  จึงเริ่มต้นสร้างเครือข่ายในประเทศไทยผ่านทางเว็บไซต์ www.bangkokfreecycle.com ซึ่งผู้สนใจในจังหวัดต่างๆ สามารถสร้างเครือข่ายในรูปแบบเดียวกันนี้ได้  ปัจจุบันนอกจากเครือข่ายของคนกรุงเทพฯ แล้วยังมีเครือข่ายของชาวเชียงใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งเครือข่าย

ลูกโซ่แห่งความสุขของสังคม
ความสุขของชาวโมโซเริ่มจากจุดเล็กๆ ที่ ดร.พิพัฒน์มองว่าจะขยายอิทธิพลไปในวงกว้าง เพราะเมื่อเด็กและเยาวชนปฏิบัติตัวตามหลักการของโมโซแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองที่เห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีของลูกก็จะเกิดความภาคภูมิใจเห็นคุณค่าในตัวลูกมากขึ้น ความรักความอบอุ่น ความสุขในครอบครัวก็เกิดขึ้น และเมื่อครอบครัวมีความสุข สมาชิกในครอบครัวก็จะมีพละกำลังมากพอที่จะออกไปใช้ชีวิตภายนอกอย่างมีความสุขเช่นกัน และความสุขยังส่งต่อไปยังผู้อื่นรอบตัวได้ด้วย สังคมที่ดี สังคมแห่งความสุขก็จะเกิดขึ้น
ท้ายที่สุดแล้วสังคมที่พึงปรารถนาของชาวโมโซก็จะเกิดขึ้น ภายใต้องค์ประกอบของความจริง ความดีงามและความสุข
ความจริงคือความรู้เงื่อนไขหนึ่งของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงความรู้ในที่นี้คือการมีปัญญาคิด  มีสติ มีเหตุ  มีผลในการใช้ชีวิต
ความดีงาม คือหลักคุณธรรมเงื่อนไขอีกข้อหนึ่งของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ความดีงามจะเป็นเหมือนหางเสือคอยกำกับการกระทำของคนในสังคมไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง  เพราะหากสังคมเต็มไปด้วยคนเก่ง  แต่ไร้จริยธรรม  สังคมก็จะวุ่นวาย
เมื่อมีทั้งความจริงและความดีงามครบ สังคมแห่งความสุขก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่จะเกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน และนานแค่ไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับคนไทยทั้งประเทศ  เพราะงานวิจัยในโครงการได้เสร็จสิ้นไปนานแล้ว ทว่า  MOSOCIETY ซึ่งเป็นเครื่องมือวิจัยกับกลุ่มเป้าหมายกลับยังคงอยู่ และจะยังคงอยู่ได้นานตราบเท่าที่คนไทยทุกคนเข้าใจและน้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปปรับใช้ในชีวิต
ถึงเวลาทบทวนชีวิตที่ผ่านมาของคุณแล้วหรือยัง ว่าความสุขที่เคยสัมผัสมานั้นคือความสุขที่เที่ยงแท้ หรือจอมปลอม ความสุขที่คุณปรารถนา คือการครอบครองวัตถุมากมาย ที่วันหนึ่งก็ต้องดับสลาย หรือคุณปรารถนาความสุขที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ตัวอย่างความสุขแบบชาวโมโซ

ชุติมา   มะยะกูล (หญิง)
ผู้ช่วยฝ่ายพัฒนาธุรกิจองค์กร
บริษัท เทคนิป  เอ็นจิเนียริ่ง  (ประเทศไทย) จำกัด
จากจุดเล็กๆ ที่เจอคำว่า “โมโซ” โดยบังเอิญในนิตยสารฉบับหนึ่ง ทำให้คุณชุติมาเกิดความสนใจอยากรู้ว่าคำคำนี้มีความหมายว่าอย่างไร จึงสืบค้นข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต จนกระทั่งเจอเว็บไซต์ www. mosothai.com   ที่ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับความเป็นโมโซให้กระจ่าง จนคุณชุติมาอดใจไม่ไหวที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกชาวโมโซในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
“โดยส่วนตัวแล้ว  เชื่อการใช้ชีวิตแบบมีเหตุผล แต่จะเป็นในรูปแบบพฤติกรรมที่สุดโต่ง ถ้าไม่มากแบบมีเหตุผลก็จะน้อยแบบมีเหตุผล  พยายามหาเหตุผลมารองรับทุกการกระทำของตัวเองเพื่อไม่ให้รู้สึกผิด อย่างของที่เคยมีอยู่แล้วก็หาเหตุผลมารองรับให้ตัวเองเพื่อจะมีเพิ่ม ทั้งที่ยังไม่จำเป็น หาเหตุผลแค่ซื้อไว้ ก่อนเผื่อวันข้างหน้าอาจต้องใช้งาน แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไป ถ้ายังไม่จำเป็นจริงๆ ก็ไม่ซื้อ หรือถ้าของเก่ายังใช้ได้อยู่ก็ไม่ซื้อของใหม่ เดี๋ยวนี้จะช้าลงในเรื่องของการใช้จ่าย คิดนานขึ้น จากที่เคยทำก่อนแล้วหาเหตุผลมารองรับ ก็เปลี่ยนเป็นคิดหาเหตุผลก่อนแล้วจึงลงมือทำ

สัตว์แพทย์หญิงพันธกานต์   อ่อนนาค (หมอตาล)
สัตว์แพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์นวมินทร์ และสัตว์แพทย์ประจำโครงการรักษ์สัตว์   รักษ์สังคม
จากนักศึกษาสัตว์แพทย์ที่ตระเวนให้ความช่วยเหลือสุนัขและแมวกับคุณแม่ตามวัดต่างๆ จนกระทั่งเป็นที่ปรึกษาให้ความรู้แก่นักเรียนในชุมชนรักษ์สัตว์ แห่งโรงเรียนชลบุรีสุขบท  ที่คุณแม่เป็นอาจารย์สอนอยู่ วันนี้ความตั้งใจดีของหมอตาลต่อยอดสูงขึ้นเป็นโครงการบัญชีแก้มลิงออกมา  จึงเกิดความสนใจนำมาประยุกต์ใช้กับโครงการของตน
“หมอนำเอาสมุดบัญชีแก้มลิงมาใช้ในการบริหารเงินของโครงการ  โดยตั้งชื่อการบริหารรายรับรายจ่ายนี้ว่า ประหยัดในวันนี้เพื่อชีวีที่มั่นคง เพื่อให้น้องๆ ที่โรงเรียนชลบุรีสุขบทได้เรียนรู้การทำบัญชีรายรับรายจ่าย จากเดิมที่การซื้อของเข้าโครงการ เราไม่เคยเปรียบเทียบราคา และคุณภาพของยาหลายๆ บริษัทว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร แต่เมื่อทำบัญชีแก้มลิง ทำให้โครงการเสียเงินน้อยลงแต่ได้ของคุณภาพเหมือนของราคาแพง  เมื่อมีรายจ่ายลดลง เงินในโครงการจึงเพิ่มขึ้น มีเงินมาซื้อยา ซื้ออาหาร และทำหมันให้หมาแมวได้มากขึ้น

นักเรียนห้อง ม.5/2 โรงเรียนศรีอยุธยา
ทุกปีทางโรงเรียนศรีอยุธยาจะจัดกิจกรรมบูรณการกลุ่มวิชาต่างๆ ขึ้นมา  โดยในหนึ่งห้องเรียนจะแบ่งเป็น 8 กลุ่มรายวิชา   นักเรียนกลุ่มหนึ่งในห้อง ม.5/2 ได้กลุ่มวิชาสังคม เมื่อปรึกษาอาจารย์ เจออาจารย์ถามกลับมาว่ารู้จักคำว่าโมโซ หรือไม่ นักเรียนกลุ่มนี้จึงค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต และเจอคำคำนี้เกี่ยวข้องกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง จึงเกิดความสนใจ นำข้อมูลดังกล่าวมาปรึกษาเพื่อนๆ ทั้งห้องและเสนอให้ทุกกลุ่มวิชาจัดนิทรรศการภายใต้กรอบของโมโซ
เมธินุช  ภูมิรัตน์  หรือน้องเมธิ์  หนึ่งในนักเรียนผู้สนใจโมโซเล่าถึงกิจกรรมที่ทำในครั้งนั้นว่า
“หน้าซุ้มของห้อง ม. 5/2 จะอธิบายว่าโมโซคืออะไร เมื่อเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ เข้าใจแล้วอยากรู้ว่าตัวเองเป็นชาวโมโซหรือไม่ ก็ให้ทำแบบสอบถาม ซึ่งเป็นแบบสอบถามที่ร่วมกันคิดกับเพื่อนๆ หลังจากได้ศึกษาข้อมูลว่าคุณลักษณะของชาวโมโซเป็นอย่างไร  โดยท้ายแบบสอบถามจะประเมินว่าใครเป็นไฮโซ โลโซ หรือโมโซ  ถ้าใครเป็นโมโซก็จะได้สายรัดข้อมือสีฟ้าที่ทางเราขอมาทำกิจกรรมจากทางไทยพัฒน์หลังกิจกรรมนี้  เพื่อนๆ ในห้องก็มีการเปลี่ยนแปลง อย่างการซื้อกระดาษมาทำกิจกรรม  ซึ่งต้องใช้เป็นจำนวนมากในการจัดกีฬาสี  ทุกคนก็จะรู้จักประหยัดกันมากขึ้น รู้จักการรีไซเคิล นำกระดาษเก่ามาใช้  ก็ช่วยประหยัดเงินกองกลางของห้องไปได้”

ศิริน   หอวัง  (คริส)
ดีเจ  นางแบบและนักแสดง

นางเอกหนังทำเงินเฉียดเข้าหลัก 200 ล้าน อย่าง คริส   หอวัง  ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่สนใจกิจกรรมของโมโซยิ่งเป็นดีเจที่คลื่น Fat  Radio  ก็ทำให้คริสได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับโมโซ  ซึ่งโปรโมตผ่านคลื่นวิทยุมาตลอด  เมื่อรู้ความหมายคริสจึงคิดว่าเป็นโครงการที่สมควรจะเผยแพร่ให้กับคนรุ่นใหม่
“โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีนะคะ คือทำให้คนได้คิดอะไรมากขึ้น  ซึ่งคริสคิดว่ามันเป็นอะไรที่ดีมากๆ ค่ะ  สำหรับตัวคริสเองช่วงที่หาเงินได้เยอะก็จะใช้เยอะตามธรรมชาติ  แต่ช่วงไหนหาได้น้อยก็ไม่เคยเดือดร้อนเพราะเราไม่ใช่คนใช้เงินเยอะ หรือบ้ายี่ห้อขนาดนั้นอยู่แล้ว ก็แค่อด shopping ค่ะ คือแต่ก่อนไม่ค่อยได้คิดอะไรเรื่องนี้มากเท่าไหร่  ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องจำเป็นเหมือนกัน  แต่ตอนนี้ก็จะคิดมากขึ้น  เวลาใช้จ่ายอะไร ค่อยๆ ใช้  ไม่ใช่มีเท่าไหร่ก็ใช้จนหมด”

ณัฐกฤตา   พงษ์ธนานิกร (สัปปะรดแนน)
ดีเจ คลื่น  Fat   Radio
ดีเจสัปปะรดแนน  เป็นอีกหนึ่งคนที่รับรู้ความเคลื่อนไหวของโมโซมาตลอด  ผ่านการเป็นดีเจของคลื่น Fat  Radio
“ปรกติก็พยายามที่จะไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยอยู่แล้วค่ะในชีวิตประจำวัน  แต่ก็ไม่เคยคิดถึงเรื่องการใช้ชีวิตคิดอย่างยั่งยืนแบบจริงๆ จังๆ  ว่าจริงๆ แล้วมีวิธีมากมายที่ใช้ชีวิตแบบโมโซ  แต่เรากลับคิดไม่ถึงคิดว่าคงยากที่จะทำได้แบบนั้นจริงๆ พอรู้จักโครงการก็อยากจะแบ่งปันความคิดนี้ออกไปให้เพื่อน  และคนอื่นๆ ได้รู้ถึงแนวคิดที่ดีๆ นี้ด้วย  เพราะหลังจากที่ได้รู้จักโครงการนี้แล้ว รู้เลยว่าไม่ได้ยากอย่างที่คิดเริ่มจากเรื่องง่ายๆ ก่อนก็ได้ เช่น จะใช้จ่ายอะไรก็มีเหตุผลมากขึ้น  คิดก่อนว่าซื้อไปแล้วจะได้ใช้จริงรึเปล่า  ไม่ใช่แค่อยากได้  โครงการนี้ทำให้เราได้คิดอะไรรอบคอบมากขึ้น”

แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 53 วันที่ 30 พ.ย. – 6 ธ.ค. 2552