2009เพราะอะไร…ทำไมต้อง “โมโซ” ?!
สิบปีก่อน ณ เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนนาดา นิตยสารแนวโฆษณาชื่อ แอดบัสเตอร์ (AdBuster) ได้รณรงค์ให้ผู้บริโภคหยุดพฤติกรรม “ซื้อแหลก” ในช่วงเทศกาลขอบคุณพระเจ้า (ปลายพฤศจิกายน) และเทศกาลคริสต์มาส (วันที่ 25 ธันวาคม) เพราะเป็นช่วงที่ผู้คนออกมาช็อปปิ้งเกินจำเป็น โดยให้หันมามอบของขวัญที่ไม่ต้องใช้สตางค์แทน
สี่ปีที่แล้ว จอห์น เพอร์รี่ (John  Perry) และเพื่อน ได้รวมตัวกันภายใต้ชื่อ คอมแพ็คท์ (Compact) และประกาศว่ากลุ่มของเขาจะไม่ซื้อสินค้าใดๆ เลยยกเว้นอาหารและชุดชั้นในเป็นเวลา 1 ปี เพื่อปลุกใจให้เพื่อร่วมโลกหันมาหยุดยั้งกระแสบริโภคนิยม
ล่วงมาถึงปีพุทธศักราช 2552 รัฐบาลไทยได้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมารณรงค์กันอีกครั้ง โดยชักชวนคนไทยว่า “มาเป็นชาวโมโซ กันเถอะ”

โมโซคืออะไร และทำไมต้องโมโซ Secret ปักษ์นี้มีคำตอบค่ะ
โมโซ…โครงการดีๆ มีอายุ 5 ขวบ
แม้ว่าเราจะเพิ่งได้ยินคำว่า “โมโซ” ในปีนี้ แต่ความจริงแล้วโมโซถือกำเนิดมา ตั้งแต่ปีพ.ศ.2548  จากงานวิจัยของสถาบันไทยพัฒน์  มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมี ดร.พิพัฒน์  ยอดพฤติการ เป็นหัวเรือใหญ่
ดร.พิพัฒน์ เล่าให้เราฟังว่า “ช่วงปีพ.ศ.2548 ผมและคณะวิจัยต้องการค้นหาว่า ถ้าจะผลักดันให้คนรุ่นใหม่น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้อย่างจริงจัง โครงการที่จะใช้รณรงค์ควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร ซึ่งคำตอบที่ได้คือ พวกเราต้องการเห็นโครงการที่เปิดกว้าง และไม่ผูกมัด สามารถตัดสินใจได้ว่าจะเข้าร่วมกิจกรรมหรือไม่ก็ได้
“ตอนนั้นคำว่า ‘ไฮโซ’ และ ‘โลโซ’ เป็นคำที่คนไทยใช้กันโดยทั่วไปอยู่แล้ว โดยเราจะเข้าใจว่า ไฮโซคือคนที่มีชีวิตหรูหราสุขสบาย  ส่วนโลโซ คือคนที่อาจจะต้องใช้ชีวิตอย่างลำบากหรือยากจน อย่างไรก็ดี ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสอนให้คนเราใช้ชีวิตบนทางสายกลาง ไม่จำเป็นต้อง ‘ไฮ หรือ โล’ สุดท้ายจึงได้ชื่อกลุ่มว่า Moderation Society หรือ โมโซ (MOSO) เพราะคำว่า Moderation แปลว่า พอประมาณ ซึ่งเป็นหนึ่งในคุณลักษณะสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

ชาวโมโซเขาทำอะไรกันบ้าง
หลังการที่ได้ชื่อโครงการแล้ว ทีมวิจัยของสถาบันไทยพัฒน์จึงได้จัดทำสื่อกิจกรรมเพื่อเผยแพร่แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดังนี้
1. สายรัดข้อมือ  สายข้อมือมีสีฟ้าแทนความ “หนักแน่นมั่นคง” ของจิตใจ และมีข้อความ “สังคมพอประมาณ” ของชาวโมโซปั๊มบนสายข้อมือ
บางคนอาจติงว่า สายข้อมือเป็นเครื่องมือที่ไร้พลัง หรือเป็นเพียงแค่การทำตามกระแสแฟชั่นเท่านั้น แต่ ดร.พิพัฒน์อธิบายว่า “เวลาที่คนเราจะซื้อของอะไรสักอย่าง ขณะที่มือยื่นไปหยิบของ สายข้อมือก็จะยื่นตามไปด้วย เมื่อคนเห็นสายข้อมือก็จะฉุกคิด พิจารณาอีกครั้งหนึ่งว่าควรซื้อหรือไม่ ดังนั้นสายรัดข้อมือจึงเป็นเครื่องมือที่เราหวังจะให้เกิดการคิดซ้ำ Rethink) นั่นเอง”
ที่สำคัญก็คือ สายรัดข้อมือที่ว่านี้มีไว้เพื่อแจกฟรีเท่านั้น
2. สมุดบัญชีแก้มลิง  สังเกตไหมว่า นาทีแรกที่เราได้เห็นสิ่งของต้องใจ เราจะเกิดความรู้สึกอยากได้ขึ้นมาติดหมัด แต่ถ้า
ทิ้งระยะให้ทอดยาวออกไปสักหน่อย ความอยากได้ก็จะลดลง และถ้ามีการจดบันทึกอย่างเป็นกิจจะลักษณะก็จะรู้ว่าเรามีเงินเหลือติดกระเป๋าเท่าไหร่
วิธีทำบัญชีแก้มลิง  เขียนรายการสิ่งของที่เราอยากได้  โดยระบุมูลค่าและระยะเวลาสำหรับคิดทบทวน เช่น โทรศัพท์มือถือราคา 9,000 บาท ให้ระยะเวลาพิจารณา 15 วัน หลังจาก 15 วันไปแล้ว ถ้าเรายังเห็นว่าจำเป็นต้องซื้อจึงซื้อ แต่ถ้าไม่ซื้อคุณจะมีเงินเหลือเก็บตั้ง 9,000 บาท (ว้าว!)
โม (MO) มาจากคำว่า Moderation หมายถึง ความพอประมาณ
โซ (SO)  มาจากคำว่า Society หมายถึง สังคม
โมโซ (MOSO) = Moderation  Society  จึงหมายถึง สังคมพอประมาณ
3.  บางกอกฟรีไซเคิล  กิจกรรมนี้เป็นการต่อยอดจากโครงการ Freecycle  ที่มีสมาชิกทั่วโลกกว่า 3 ล้าน โดยแต่ละคน
จะเข้าไปโพสต์ในเว็บบอร์ดว่าเขาอยากแบ่งปันของเหลือใช้ที่ยังมีคุณภาพดีชิ้นใดบ้าง หรือเข้าไปโพสต์ว่ากำลังต้องการสิ่งของชิ้นใดอยู่ หากพบว่ามีความต้องการตรงกัน พวกเขาก็จะนัดพบกันเพื่อส่งมอบสิ่งของเหล่านั้น
สำหรับกิจกรรมฟรีไซเคิลในประเทศไทย ขณะนี้มีสมาชิกกว่า 300 คน ถ้าคุณสนใจเข้าร่วมกิจกรรมนี้สามารถคลิกเข้าไปสมัครได้ที่ www.bangkokfreecycle.com
แม้ว่าโครงการวิจัยของสถาบันไทยพัฒน์จะสิ้นสุดลงแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ของสถาบันยังยินดีให้คำแนะนำและสนับสนุนทั้งสายรัดข้อมือและไฟล์บัญชีแก้มลิง คุณครู นักเรียน หรือผู้ปกครองท่านใดสนใจสามารถสอบถามได้ที่ โทร. 0-2930-5227
หรือ www.mosociety.com และ www.mosothai.com

เป็นโมโซแบบคนดัง
แม้ นุ่น – ศิรพันธ์  วัฒนจินดา  ยุ้ย – จีรนันท์  มะโนแจ่ม และ อ้น – สราวุฒิ  มาตรทอง  จะไม่ได้เป็นพรีเซ็นเตอร์ของโครงการโมโซอย่างเป็นทางการ แต่ Secret เห็นว่ารูปแบบการใช้ชีวิตของทั้งสามคนตรงกับคุณลักษณะของชาวโมโซพอดิบพอดี ก็เลยอยากชวนคุณมาเก็บเกี่ยวเคล็ดลับดีๆ จากพวกเขากันค่ะ

“อาชีพนักแสดงอาจทำให้นุ่นมีรายได้มากกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน แต่ก็เป็นอาชีพที่มีความไม่แน่นอนสูงมากค่ะ ดังนั้นตั้งแต่เริ่มทำงานมานุ่นจึงเลือกที่จะให้คุณแม่เป็นคนจัดสรรเงินให้ คือคิดว่าคุณแม่เป็นบริษัทที่จ้างนุ่นทำงาน แล้วจ่ายเงินให้นุ่นเท่ากับวุฒิปริญญาตรี
“ที่จริงแล้วการเป็นโมโซไม่ยากเลย  แค่ใช้ชีวิตแบบเดิม เพียงแต่เติมสติกับเหตุผลเข้าไปด้วย เช่น ถ้านุ่นเดินห้างแล้วเห็นป้ายเซล นุ่นก็ชอบค่ะ คงต้องขอเข้าไปหน่อย แต่เราไม่จำเป็นต้องซื้อทุกชิ้นที่เราชอบนี่คะ ต้องดูว่าซื้อแล้วคุ้มไหม มิฉะนั้นถึงเวลาเปิดถุงที่บ้านคงต้องเอามือก่ายหน้าผาก เพราะซื้อแต่ของที่ไม่รู้ว่าจะได้ใช้เมื่อไหร่
“นุ่นคิดว่าการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงไม่ได้หมายถึงเรื่องเงินเท่านั้น แต่หมายความว่าเราต้องรู้จักพอเพียงในการหาความสุขด้วย ทุกวันนี้นุ่นรู้สึกว่าตัวเองมีความสุขพอแล้ว เพราะนุ่นมีครอบครัวที่อบอุ่น มีบ้านให้อยู่อาศัย มีหน้าที่การงานที่เรารัก และนุ่นเชื่ออย่างหมดใจว่าขอเพียงนุ่นเต็มที่กับการทำงานในวันนี้ นุ่นจะไม่มีอะไรต้องเสียใจในภายหลัง”
ชีวิตโมโซในแบบนุ่น – ศิรพันธ์
– ให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองช่วยดูแลการเงิน
– เรียกสติก่อนหยิบสตางค์
– แยกความจำเป็นออกจากความต้องการทุกครั้งที่เห็นป้ายเซล
– ทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างสุดความสามารถ

ยุ้ยเป็นหัวหน้าครอบครัว และต้องดูแลการเงินทุกอย่างในบ้าน ยุ้ยจึงทำบัญชีรายรับรายจ่ายทุกๆเดือนไว้เป็นตัวช่วยมา 8-9 ปี แล้วค่ะ
“ช่วงแรกๆ ที่ยังไม่ได้ทำบัญชี  บางทีก็ลืมว่าใช้เงินไปกับอะไรบ้าง ยิ่งพยายามนึกก็ยิ่งเครียด ซึ่งการทำบัญชีช่วยแก้ปัญหา
ตรงนี้ได้ และยังช่วยเพิ่มความระมัดระวังไม่ให้เราใช้จ่ายเกินตัว นอกจากนี้ยุ้ยจะแบ่งเงินเป็น 3 ส่วน อันนี้ให้ที่บ้านนะ นี่ของตัวเอง และนี่เป็นเงินออมที่จะไม่ไปแตะต้อง
“ในส่วนที่เป็นรายจ่ายของยุ้ย ที่จริงแล้วไม่ค่อยมีอะไรมากหรอกค่ะ ยุ้ยชอบช็อปปิ้งเสื้อผ้าเปิดท้ายด้วยซ้ำไป แต่ถ้าต้องไปงานโชว์ตัว เราต้องชั่งน้ำหนักด้วยว่าเจ้าของงานจ้างเรามาเท่านี้ เราควรแต่งตัวแค่ไหน เพราะเราควรให้เกียรติเจ้าของงาน แต่งตัวให้เหมาะสมด้วย และแทนที่จะซื้อของสะเปะสะปะ ยุ้ยคิดว่าเราออมเงินเพื่อซื้อของชิ้นใหญ่หน่อย เป็นรางวัลให้ชีวิตนานๆๆครั้งจะดีกว่า
“ ยุ้ยเชื่อว่าเราสามารถแสวงหาความพอเพียงได้แม้ว่าเราจะไม่ร่ำรวย ยุ้ยเคยมีชีวิตที่ลำบากกว่าเดี๋ยวนี้มาก แต่ยุ้ยไม่เคยสร้างหนี้ และการไม่มีหนี้ทำให้นอนหลับอย่างมีความสุขทุกคืนค่ะ”
ชีวิตโมโซในแบบยุ้ย – จีรนันท์
– ทำบัญชีรายรับรายจ่าย
– กันเงินออมออกจากรายได้
– อดออมเพื่อซื้อของขวัญเป็นรางวัลให้ชีวิต
– ไม่สร้างหนี้สินโดยเด็ดขาด

“ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ส่งเสริมให้เราใช้ชีวิตอย่างกระเหม็ดกระแหม่ หรือต้องไปทำไร่ทำนา เราใช้ของหรูหราได้ ตราบที่มีกำลังพอ แต่ถ้าเรามีกำลังซื้อไม่พอ ก็ต้องรู้จักผ่อนปรนความต้องการของตัวเอง
“หลายครั้งที่ผมไปดูของแล้วเจอชิ้นที่ถูกใจมากๆ จนคำว่า “ใช่เลย” ผุดขึ้นมาในหัว แต่เมื่อชั่งใจจริงๆ ก็ต้องเปลี่ยนไปซื้อของที่ถูกใจรองลงมา เพราะถึงจะซื้อไหวก็ต้องกระทบกับแผนการเงินของเรา ถ้าเราซื้อก็คงสุขได้เพียงแวบเดียว ผมพอใจกับความสุขที่ยาวนานมากกว่า
“คนเราควรรู้ว่าความสุขของตัวเองอยู่ที่ไหน อย่างความสุขของผม ณ วันนี้ คือการนั่งนิ่งๆ ได้สัมผัสลมพัดเย็นๆ ได้ยินเสียงร้องเพลงของนกคีรีบูนที่เลี้ยงไว้ สุขเมื่อคิดถึงครอบครัว และรับรู้ว่าเขาอยู่กันอย่างมีความสุข  สุขเมื่อคิดว่าเรายังมีงานทำ เพราะนั่นแปลว่าเราได้ใช้ประโยชน์จากความสามารถของตัวเอง และหาเลี้ยงตัวเองได้ อีกทั้งยังมีความฝันถึงชีวิตในภายภาคหน้า
“ความสุขอีกอย่างของผมคือการ “กินข้าววัด” วันไหนที่ได้ตื่นแต่เช้าตามหลวงพ่อ (วัดราชนัดดาฯ) ไปบิณฑบาต เมื่อกลับมาถึงกุฏิ ได้ช่วยท่านล้างเท้า กินข้างวัด และสวดมนต์พร้อมท่าน ผมรู้สึกว่าวันนั้นเหมือนได้กินอาหารใจครับ ไม่ใช่ว่าผมเลิกไปปาตี้ แต่วัดเป็นสถานที่ทำให้เราสงบและคิดอะไรๆออก”
ชีวิตโมโซในแบบอ้น – สราวุฒิ
– ไม่ซื้อของด้วย “เงินในอนาคต”
– รู้จักหาความสุขจากธรรมชาติ
– ดูแลตัวเองและครอบครัว
– เรียนรู้ตลอดเวลา
– แบ่งเวลาให้การอยู่นิ่งๆ

โมโซ = ปรากฏการณ์ไฟไหม้ฟาง?
ปัจจุบันการรณรงค์ให้คุณๆ หันมาเป็นชาวโมโซเป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้โครงการ “คิดอย่างยั่งยืน” ที่มีกองอำนวยการ
รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นผู้ดูแล มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อวิทยุ  โทรทัศน์ และสิ่งพิมพ์ต่างๆ จนทำให้คนไทย จำนวนไม่น้อยอดคิดไม่ได้ว่า “หรือจะเป็นเพียงปรากฏการณ์ไฟไหม้ฟาง”
ในการสัมมนาเรื่อง “Hiso หรือ Loso ก็ Moso  ได้เหมือนกัน” ที่จัดขึ้น ณ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ที่ผ่านมา ก็มีเสียงสะท้อนที่ห่วงใยในจุดนี้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนม  คลี่ฉายา  อาจารย์ประจำภาควิชาการประชาสัมพันธ์  คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ “การวัดผล” ของโครงการโมโซอย่างน่าสนใจว่า “การจะให้คนคนหนึ่งลุกขึ้นมาเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นชาวโมโซคงไม่ใช่สิ่งที่ทำสำเร็จในชั่วข้ามคืน ผมคิดว่าโครงการนี้คงไม่ได้หวังผลให้เราได้จำนวนชาวโมโซเพิ่มขึ้นมา 3-5 ล้านคน แต่คือ การสร้างการรับรู้ว่ามีการรณรงค์ให้คนไทยใช้สติและเหตุผลในการดำเนินชีวิต ดังนั้นแม้ว่าจะยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมก็อย่าเพิ่งมองว่าโครงการนี้ไร้ค่าเสียทีเดียว และอย่าลืมว่าถ้าไม่มีก้าวแรกก็จะไม่มีก้าวต่อไป”
คำตอบนี้สอดคล้องกับคำตอบของดร.พิพัฒน์   ยอดพฤติการที่กล่าวว่า
“ตั้งแต่แรกเริ่ม เราทำโครงการนี้ขึ้นเพราะต้องการฝังจิตสำนึกที่ดีลงไปในปัจเจก ถ้าคุณเข้ามารับรู้และทำความเข้าใจ “คุณ” นั่นเองคือ ผู้ขับเคลื่อนให้โครงการนี้ดำเนินต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องมีเจ้าภาพหรือการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อน
“ถ้ามองภาพรวมในปัจจุบัน ความพยายามของคนคนหนึ่งอาจส่งผลได้ไม่มากนัก เพราะกระแสสังคมกำลังไหลไปในทางเสื่อม แต่ถ้าอธิบายตามหลักความจริง ใครทำอะไรย่อมได้อย่างนั้น การให้คือ การรับ ดังนั้นถ้าคนหนึ่งพยายามทำสิ่งดีงามอย่างต่อเนื่อง แม้สังคมจะไม่ดีขึ้น แต่จะเกิดคุณค่าบางอย่างเพิ่มขึ้นในตัวเขา และไม่ว่าสังคมจะเป็นอย่างไร เขาจะอยู่รอดปลอดภัย”

ตอนต่อไปของชาวโมโซจะเป็นอย่างไร
คุณยังจำเรื่องของแอดบัสเตอร์ และจอห์น เพอร์รี่  ที่กล่าวไว้ในตอนต้นได้ใช่ไหม
การรณรงค์เพื่อต่อต้านกระแสช็อปแหลกของนิตยสาร แอดบัสเตอร์ได้จุดประกายให้เกิด “วันไม่ซื้อ” (Buy  Nothing Day)  ในช่วงเทศกาลขอบคุณพระเจ้าและคริสต์มาส  ปัจจุบันผู้คนนับล้านคนในประเทศต่างๆ กว่า 30 ประเทศออกมาทำกิจกรรมมากมายเพื่อกระตุกใจผู้คนให้คิดก่อนซื้อ เช่นเดียวกับที่จอห์นและเพื่อนตั้งใจทำได้สำเร็จด้วยการไม่ซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็นตลอดปี ค.ศ. 2005 และช่วยให้ Buy  Nothing Day กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
สำหรับประเทศไทยที่รักของเรา ตอนต่อไปของโครงการโมโซจะเป็นอย่างไรนั้น คำตอบอยู่ที่คุณทุกคน

ข้อมูลจาก  : นิตยสาร  Secret  ปักษ์ที่  30   วันที่  26 กันยายน 2552