คงจำบรรยากาศการเมืองที่ร้อนระอุ ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนที่ผ่านมากันได้ดี เนื่องจากมีความเคลื่อนไหวของ มวลชนเสื้อแดง หรือ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) อย่างต่อเนื่อง และประกาศระดมพลเข้ากรุงให้ได้ล้านคน เพื่อกดดันรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยุบสภา หวังผลให้มีการเลือกตั้งทั่วไป
ต่อมาวันที่ 24 มีนาคม คณะรัฐมนตรี (ครม. ) มีมติอนุมัติงบกลาง รายการสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉิน 1,000 ล้านบาท ตามที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เสนอ ใช้ชื่อโครงการ”สู้วิกฤติเศรษฐกิจด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ปูพรมแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ สังคม โดยนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ให้เหมาะสม
สำหรับงบประมาณ 1,000 ล้านบาท ที่ใช้ในการสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว แยกเป็นค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการในในหมู่บ้าน 783 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายปฏิบัติการในชุมชน 34 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการรณรงค์เสริมสร้างความเข้าใจ 100 บ้านบาท ค่าใช้จ่ายอำนวยการ 27 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายบริหารจัดการ 24 ล้านบาท
ผลจากมติ ครม.ดังกล่าว กลายเป็นประเด็นร้อนที่ แกนนำ นปช. หยิบมาโจมตีรัฐบาลอย่างรุนแรงว่า รัฐบาลทุ่มงบต้านเสื้อแดงบุกกรุง
กระทั่งเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ที่ผ่านมา รัฐบาลได้เปิดตัวโครงการ”สู้วิกฤติเศรษฐกิจด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” อย่างเป็นทางการหลังจากดำเนินไปแล้วระยะหนึ่ง โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นประธานเปิดงาน ร่วมกับภาคีและแนวร่วม โครงการจากภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา
บรรยากาศในงานเป็นไปอย่างคึกคัก เพราะนอกจากมีศิลปินไปสร้างสีสัน ยังมีตัวแทนเยาวชนประมาณ 200 คน ไปร่วมงานด้วย เพราะเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่รัฐบาลจะสร้างเครือข่ายเรียนรู้ สังคมพอประมาณ หรือ โมโซไซตี้ ( Moderation Society) โดยเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ mosothai.com
นอกจากนี้ แนวร่วมจากภาคเอกชน ที่ไปร่วมงาน อาทิ นายประมณต์ สุธีวงศ์ อดีตประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการ สภาหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน )นายโชค บูลกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทฟาร์มโชคชัยฯ นายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการมูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิด ฯลฯ
นายดุสิต นนทะนาคร หนึ่งในภาคีสู้วิกฤติกล่าวว่า หอการค้าไทยซึ่งมีสมาชิกใน 75 จังหวัดทั่วประเทศได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแก่สมาชิก เพื่อนำไปปรับใช้กับภาคธุรกิจทั้งในเรื่องความพอประมาณ มีเหตุผล เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับธุรกิจ และประเทศชาติสู่ความยั่งยืนระยะยาว ซึ่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ถือว่ามีความเหมาะสมเข้ากับยุคเศรษฐกิจ
ขณะที่นายสันติ วิลาสศักดานนท์ กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้จัดสัมมนาให้ความรู้กับสมาชิกในเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างต่อเนื่อง เช่นชี้แนะว่าอย่าลงทุนเกินตัว สอนให้คนงานใช้จ่ายอย่างประหยัด มีสติ และมีเหตุผล ซึ่งการเข้าเป็นภาคี “สู้วิกฤติเศรษฐกิจด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.)ในครั้งนี้ทางส.อ.ท.พร้อมจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่