ระบบทาสแม้ถูกยกเลิกไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2448 (ร.ศ. 114) สมัยรัชกาลที่ 5 ถือเป็นการสิ้นสุดการแบ่งชนชั้นในสังคม แต่สภาพความจริงปัจจุบัน สังคมคงมีการแบ่งชนชั้นอย่างกลายๆ โดยกะเกณฑ์จากฐานะความมั่งคั่งของเงินทอง และอำนาจบารมีที่แต่ละคนพึงมี

คำจำกัดความ “ไฮโซ” (High society) และ “โลโซ” (Low Society) เป็นสิ่งบอกเล่าอย่างดีของการแบ่งชนชั้นในปัจจุบัน กระนั้นกลุ่มคนที่อยู่คาบเกี่ยวระหว่าง 2 ชนชั้น หรือเรียกขานว่าชนชั้นกลางก็มีจำนวนไม่น้อย แต่ให้นึกหานิยามสำหรับคนกลุ่มนี้กลับหาไม่เจอ ไม่ว่าในพจนานุกรมใดๆ

กระทั่งช่วงปี พ.ศ. 2547 “สังคมโมโซ” ได้ถือกำเนิด แม้จุดประสงค์แท้จริงจะไม่ใช่การนิยามถึง “ชนชั้นกลาง” แต่แก่นแท้ของกลุ่มที่ยึด “ทางสายกลาง” ในการดำเนินชีวิตก็ทำให้ชื่อ โมโซ ถูกนำไปเปรียบกับอีก 2 กลุ่มคือ ไฮโซ และ โลโซ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้…

โมโซคืออะไร, เป็นอย่างไหนถึงจะโมโซ, แล้วโมโซทำอะไรบ้าง เป็นคำถามที่ลอยคว้างอยู่ในใจให้ติดตาม

จุดเริ่มจากงานวิจัยในการทำฐานข้อมูลเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2547 ของ “แนน-วีรญา ปรียาพันธ์” “สาว-จินตนา จันสน” และ “ผึ้ง-ปิยเลขา ไหล่แท้” นำไปสู่แนวคิดการทำอย่างไรให้สังคมเป็นสังคมพึงปรารถนา ประกอบไปด้วยความจริง ความสุข และความดีงาม นั่นจึงเป็นที่มาของ“โมโซไซตี้” หรือชื่อเต็ม Moderation Society สังคมที่เน้นการปฏิบัติตามทางสายกลาง

“ชาวโมโซ คือคนปกติทั่วไป ไม่มีอะไรแปลกไปกว่าคนอื่น แต่รู้ว่าควรดำเนินชีวิตอย่างไรที่ไม่ฟุ้งเฟ้อ หรือตระหนี่จนเกินไป อาจเรียกได้ว่าอยู่คาบเกี่ยวระหว่างความเป็นไฮโซ กับโลโซ” คำนิยามคร่าวๆของโมโซไซตี้โดย “จินตนา” ที่อธิบายพร้อมเสริมว่า

“แก่นสำคัญอีกอย่างของชาวโมโซ คือการทำความดี ฟังดูอาจกว้างแต่ชาวโมโซจะทำความดีทุกด้าน ไม่ว่าช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน เก็บขยะที่ตกตามพื้นถนน หรือปฏิบัติตามศีล 5 ซึ่งการทำความดีถือเป็นแก่นแท้ที่ชาวโมโซต้องปฏิบัติ”

นอกจากนี้สิ่งที่บ่งชี้ให้รู้ว่าใครบ้างที่เป็นชาวโมโซ ให้ดูที่สายรัดข้อมือ หรือ Wristband สีฟ้าที่พิมพ์คำว่า “สังคมพอประมาณ” (Moderation Society) ในเรื่องนี้ “ผึ้ง” ให้ข้อมูลว่า

“สายรัดข้อมือจะมีเลขประจำตัวที่แตกต่างกันของสมาชิกแต่ละคน โดยทางกลุ่มเลือกสีฟ้า ซึ่งหมายถึง การแสดงความมั่นคง ความสม่ำเสมอ ความพยายาม อดทนต่อการทำสิ่งที่ดีต่างๆ ตลอดจนการมีภูมิคุ้มกันและหนักแน่นต่อการดำรงชีวิต การจัดทำสายข้อมือแม้จะไม่สามารถบอกได้ว่าคนที่ใส่จะประพฤติปฏิบัติตามหลักของโมโซหรือไม่ แต่เชื่อว่าอย่างน้อยก็น่าเตือนใจได้บ้าง”

ในเรื่องนี้มีตัวอย่างให้เห็น…
“พี่คนหนึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มโมโซ ได้ไปเที่ยวต่างจังหวัดขากลับเห็นรองเท้าแล้วอยากซื้อมาก แต่พอพี่เขาเห็นสายรัดข้อมือ “สังคมพอประมาณ” ที่ใส่ก็ฉุกคิด และถามตัวเองว่ามีความจำเป็นต้องซื้อใหม่หรือเปล่า คู่เก่ายังใส่ได้ไหม เมื่อเขาใคร่ครวญแล้วว่าไม่มีความจำเป็นก็ไม่ซื้อ ถือเป็นเหตุการณ์ที่น่าประทับใจ”
เรื่องดังกล่าวพ้องกับสิ่งที่ทางกลุ่มได้ปลูกฟังทัศนคติ “เน้นสติ เหนือสตางค์” ที่ให้คิด ไตร่ตรองก่อนซื้อสินค้าว่าแท้จริงแล้วมีความจำเป็นต้องใช้หรือว่าเป็นเพียงความอยากได้ชั่วคราว โดยเรื่องนี้เกี่ยวโยงกับโครงการ “บัญชีแก้มลิง” 1 ใน 2 กิจกรรมหลักของชาวโมโซไซตี้

“บัญชีแก้มลิงเป็นกิจกรรมที่เรารณรงค์ มีหลักคิดง่ายๆคือ หากอยากได้สินค้าหรือซื้อของชิ้นใหญ่ๆที่เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ให้ชะลอการซื้อไปสักหนึ่งอาทิตย์ก่อน โดยนำเงินก้อนนี้ไปพักไว้ จากนั้นค่อยๆพิจารณาทบทวนว่าจำเป็นต้องซื้อสินค้านั้นๆจริงหรือไม่ หากจำเป็นค่อยซื้อ ถือเป็นการช่วยป้องกันการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้อีกทาง”

ส่วนอีกกิจกรรมที่ทางโมโซไซตี้กำลังร่วมดำเนินการขณะนี้คือ โครงการมือใหม่หัดทำดี (First Hand Out) ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนส่งโครงการสร้างสรรค์สังคม เพื่อสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ ได้ริเริ่มทำกิจกรรมเพื่อสังคมและสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการทางสังคมรุ่นใหม่

“โครงการที่ผ่านมาเช่น โครงการมหาลัยขยะ ที่ดำเนินการโดยกลุ่มกระทิงน้อย มีสมาชิก 8 คน กิจกรรมคือการจัดทำวีซีดี รายการการ์ตูนที่มีนิทานให้ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ และสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสังคม โดยส่งไปตามโรงเรียนต่างๆในกรุงเทพฯและปริมณฑล”

“อีกโครงการคือสานฝันปันน้ำใจ เป็นโครงการจากกลุ่ม Charity ที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา โดยการจัดกิจกรรมเช่น เสื้อเพนท์ สร้อย กำไล ที่มีสัญลักษณ์สื่อถึงเด็ก เพื่อนำเงินที่ได้ไปซื้อหนังสือและอุปกรณ์การศึกษาต่างๆ” นี่คือข้อมูลที่ ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการณ์ ที่ปรึกษาโครงการโมโซไซตี้ได้เขียนไว้ใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ เกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆภายใต้โครงการมือใหม่หัดทำดี

นอกจากโครงการดังกล่าวยังมีโครงการอื่นๆที่ชาวโมโซไซตี้ออกไปทำกิจกรรมเพื่อสังคม ซึ่งที่ผ่านมามีทั้ง โครงการกองทุนอาสาพัฒนาชนบท ที่โรงเรียนเย็นศิระบ้านหมากแข้ง จ.เลย การรวมกลุ่มเป็นสมาชิกโมโซไซตี้ของโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.เพชรบุรี ทั้งยังมีส่วนร่วมกับกลุ่มเยาวชนนักศึกษา YIY ในการพัฒนาสังคมด้านต่างๆอีกหลายโครงการ

ฟังดูแล้วกิจกรรมของโมโซไซตี้ อาจไม่ต่างจากกลุ่ม NGO หรืออาสาสมัครพัฒนาสังคมกลุ่มอื่นๆ แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือรายละเอียดที่ทุกกิจกรรมจะปลูกฝังให้ผู้เข้าร่วมยึดคติ “เน้นสติเหนือสตางค์” และสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง บ้าน ชุมชน และสังคม ซึ่งเป็นส่วนแรกที่ช่วยให้สังคมเข้มแข็ง ซึ่งจากการที่มีโอกาสจัดกิจกรรมทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ทำให้แกนนำทั้ง 3 มองเห็นความต่างในการเข้าถึงหลักโมโซไซตี้ ของผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งทั้ง 3 เล่าว่า

“ในต่างจังหวัดผู้คนจะเข้าถึงง่ายกว่าสังคมเมือง อย่างในกรุงเทพฯสังคมมีช่องว่างมากกว่า การเปิดรับสู้ต่างจังหวัดไม่ได้ แต่ถ้าคนกรุงเทพฯเปิดรับแล้วจะเข้าใจลึกซึ้งกว่า และเป็นผลดีในระยะยาว แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือต้องมีการจัดการที่เข้มแข็งในกลุ่มนั้นๆที่เราไปปลูกฝัง เราเป็นเหมือนคนไปจุดไฟให้ติด เมื่อติดแล้วต่อไปเป็นหน้าที่ที่พวกเขาต้องสานต่อเอง”

ในฐานะที่เป็นองค์กรที่ไม่มุ่งหวังผลประโยชน์ ปัญหาที่พบแน่นอนคือเรื่องบประมาณ ในเรื่องนี้ “จินตนา” เปิดเผยว่า เนื่องจากเราเป็นองค์กรที่ไม่มุ่งหวังผลประโยชน์ เรื่องงบประมาณจึงต้องหากันเอง อย่างสายรัดข้อมือเราก็แจกฟรี ไม่ต้องจ่ายเงิน แต่ก็มีบางหน่วยงานที่เข้าร่วมกิจกรรมกับเราก็ช่วยให้เงินอุดหนุน แต่เราไม่ได้บังคับ ซึ่งหน่วยงานใดที่เห็นประโยชน์ของ “โมโซไซตี้” แล้วต้องการเข้าร่วมสนับสนุนเราก็ยินดี แต่ต้องไม่เข้ามาแทรกแทรงในเรื่องแนวคิดและหลักการของ “โมโซ”

“นอกจากเรื่องงบประมาณปัญหาอีกอย่างคือ หลายฝ่ายยังไม่เข้าใจในหลักการว่าโมโซคืออะไร บางคนคิดว่าชาวโมโซต้องเป็นชนชั้นกลาง แต่ความจริงจะไฮโซหรือโลโซ จะศาสนาไหน เพศอะไร หรือผู้ทุพพลภาพก็เป็นชาวโมโซได้ สิ่งสำคัญคือการทำความดี รู้จักใช้จ่าย เข้าใจในหลัก “เน้นสติ เหนือสตางค์” เท่านี้ก็พอ” “วีรญา” กล่าว
แล้วกรณีรัฐบาลชุดใหม่ที่มีนโยบายเข้าข่ายเน้น “ประชานิยม” ในเรื่องนี้จะขัดกับหลักการของกลุ่ม “โมโซไซตี้” หรือไม่ “ปิยเลขา” ชี้ความกระจ่างในเรื่องนี้

“ก่อนอื่นต้องชี้แจงว่ากลุ่มของเราไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ถามว่านโยบายจะขัดกับหลักการหรือไม่ ตอบได้เพียงเราคงต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ให้ความรู้กับผู้ที่ต้องการเข้าร่วมเป็นชาวโมโซมากขึ้น เช่น หากต้องการอะไรให้รู้จักคิดก่อนซื้อ ควรออมเงินเพื่อมาซื้อไม่ใช้กู้มา หรือชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ”

หากจุดเริ่มของโครงการคือความคาดหวังให้สังคมเป็นสังคมที่ดี มีความสุข แต่เมื่อมองสภาพสังคมตามความเป็นจริง “โมโซไซตี้” เป็นเพียงกลุ่มคนเล็กๆที่มีสมาชิกประมาณ 4 พันกว่าคน คงเป็นเรื่องยากเกินกำลังที่จะเปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบ ในเรื่องนี้ใช่ว่าแกนนำทั้ง 3 จะไม่รู้ พวกเขาจึงเลือกเดินทางสายกลางในการคิดและทำกิจกรรม

“เราเลือกจะเดินช้าๆ ไม่รีบร้อน ค่อยๆปลูกฝังแนวคิดทางสายกลางให้สังคม โดยเน้นไปที่เยาวชน ให้ต่อไปพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี เมื่อสังคมหนึ่งๆดีขึ้น เราเชื่อว่าสังคมรอบๆก็จะดีตาม แต่เราก็ไม่ได้หวังถึงกับเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีเลิศ แค่เพียงชาวโมโซสักคนตื่นขึ้นมาแล้วทำความดี เป็นคนดีของสังคมเท่านั้นเราก็พอใจ”

เป็นความพอใจในทางสายกลาง พอใจในชีวิตที่มี พอใจกับสิ่งที่ทำแล้วอย่างเต็มที่ เหล่านี้คงเป็น “โมโซวิถี”…วิถีชีวิตแห่งความพอเพียง

 

 

วัฒนพงศ์ คำแก้ว

แหล่งที่มา: หนังสือพิมพ์สวัสดีกรุงเทพ  ฉบับวันที่ 8 – 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551