แน่นอน ถ้าคุณ…ไม่ใช่ ไม่รู้จัก และไม่เคยได้ยินคำว่า “โมโซ” มาก่อน ย่อมงงกับคำถามนี้เป็นธรรมดา… โมโซ ไม่ใช่ชื่อคน ไม่ใช่ชนเผ่า ไม่ใช่ “ไฮโซ” และเช่นเดียวกัน…ไม่ใช่ “โลว์โซ” — แต่ทั้ง ไฮโซ และ โลว์โซ รวมถึงชนเผ่าไหนๆ หรือใครก็ตาม ก็สามารถเป็น โมโซ ได้นะ
เอ้า ยิ่งงง ง๊ง งง เข้าไปใหญ่ (อิอิ)
คำแรก “โม” (MO) มาจาก “Moderation” หมายถึง ความพอประมาณ ไม่มากไป…ไม่น้อยไ ป พอดีๆ ส่วน “โซ” (SO) มาจากคำว่า “Society” ที่หมายถึง สังคม ดังนั้นเมื่อรวมคำว่า “MO” และ “SO” เข้าด้วยกันแล้ว จึงหมายถึง “สังคมพอประมาณ” (Moderation Society)
จุดกำเนิดของสังคมพอประมาณ หรือ โมโซไซตี้ เริ่มต้นเมื่อปี 2548 จากงานวิจัยของสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้การนำของ ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นผู้สนับสนุน เพื่อสร้างขบวนเคลื่อนไหวในสังคมให้เกิดความตระหนักในการใช้ชีวิตอย่างพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ปัจจุบันมีผู้สนใจทั้งในระดับองค์กรและในระดับบุคคลนำแนวคิดโมโซไซตี้ไปใช้ในการรณรงค์หรือขับเคลื่อนโครงการหรือกิจกรรมที่มีความสอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกว่า 30 องค์กร และชาวโมโซที่แสดงตนด้วยการลงทะเบียนในเครือข่ายมีจำนวนราว 5,000 คนแล้ว
เราทุกคนเป็นโมโซได้
ชาวโมโซเขาไม่ได้แยกตัวไปสร้างสังคมใหม่นะ อย่าเข้าใจผิดเขาก็อยู่ในสังคมของเรานี่แหละ เพียงแต่เขาเห็นว่าสังคมปัจจุบันจะเข้าสู่สภาพที่ไม่น่าพึงปรารถนา พวกเขาเลยมีภารกิจร่วมกันที่จะช่วยกันเปลี่ยนทิศทางให้เป็นสังคมที่มีแต่ความจริง ความดีงาม และความสุข
อย่างที่บอกว่ากลุ่มโมโซจะมีอิสระในการดำเนินกิจกรรม ชาวโมโซในแต่ละพื้นที่จึงสามารถร่วมกันคิดออกแบบกิจกรรมเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นของตน ซึ่งที่ผ่านมามีกิจกรรมหลากหลายภายใต้เครือข่าย www.mosociety.com ซึ่งชาวโมโซในแต่ละพื้นที่จัดขึ้น ได้แก่ กิจกรรมต้นแบบโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.เพชรบุรี กิจกรรมให้ความรู้เศรษฐกิจพอเพียงแก่ครู ศรช. ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จ.นครปฐม นิทรรศการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องการดำรงชีวิตอย่างพอเพียงในงาน “1,392 ปี๋สลีเวียงสังฆะเติ๋น” จ.ลำปาง เป็นต้น
“เว็บไซต์โมโซไทยถือเป็นกลอุบายอย่างหนึ่งให้เยาวชนสนใจแนวคิดเรื่องการใช้ชีวิตแบบพอประมาณ เพราะการที่เราจะไปสอนเขาว่าต้องใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพยงแบบเดิมนะ เขาก็รู้แล้ว…แต่ไม่โดนใจ ไม่เกิดกระแส และไม่ทำ คำว่า โมโซ เป็นคำที่สะดุดหู และใช้คลื่นวิทยุเป็นตัวโปรโมตให้ดีเจได้สื่อสารกับวัยรุ่น ให้เขาเข้ามาดูในเว็บไซต์ แล้วเราก็สอดแทรกแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจเพียงของพระเจ้าอยู่หัวเข้าไป”
รองผู้อำนวยการส่วนมวลชนและกิจการพิเศษ กอ.รมน. เล่าต่อว่า แนวคิดนี้เป็นการต่อยอดจากเครือข่ายโมโซไซตี้ที่มีอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว เพิ่งจะเปิดตัวได้เพียง 3 สัปดาห์ ยังไม่สามารถระบุจำนวนสมาชิกได้ (สำหรับ www.mosothai.com) แต่ก็ได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก ซึ่งช่วงที่ผ่านมาได้มีการจัดกิจกรรมเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายบ้างแล้ว อาทิ เชิญชวนให้เยาวชนออกแบบเสื้อยืดพอเพียงในงานที-เชิ้ต เฟสติวัล เป็นต้น
ด้าน เอก วงศ์อนันต์ ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ซึ่งนำเยาวชนจำนวน 280 คน เข้าร่วมการเปิดตัวโครงการนี้เมื่อปลายเดือนพ.ค.ด้วย กล่าวว่า ที่ผ่านมาเมื่อเอ่ยถึงเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นเรื่องของผู้ใหญ่เป็นหลัก เมื่อมีโครงการนี้เกิดขึ้นและดำเนินการประสานงานภายใต้ www.mosothai.com จึงถือว่าเป็นเรื่องดีที่จะมีช่องทางให้เด็กและเยาวชนทั่วประเทศได้รับรู้และแลกเปลี่ยนข่าวสารในการใช้ชีวิตอย่างประมาณตน ยกตัวอย่างเช่น เด็กในภูมิภาคหนึ่งจะได้เห็นตัวอย่างการใช้ชีวิตอย่างไม่ฟุ้งเฟ้อของเด็กๆ อีกภูมิภาคหนึ่ง หรือได้เห็นกิจกรรมที่จัดทำขึ้นภายใต้แนวคิดร่วมกันของโครงการแล้วประสบความสำเร็จ จากนั้นก็นำตัวอย่างดีๆ ที่ได้ไปปรับใช้กับตัวเอง
“การเป็นคนพอประมาณมีหลักง่ายๆ คือ มีสติ มีเหตุผล สร้างภูมิคุ้มกัน ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจก็ได้ ขอแค่มีสติ มีวิจารณญาณมาประกอบความอยากมีอยากได้ รวมถึงสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองซึ่งไม่ใช่แค่ออกกำลังหรือทานอาหารเสริม แต่พยายามหาความรู้ให้ตัวเองได้เปิดกว้าง และเน้นเรื่องคุณธรรม แม้จะยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิกในเว็บไซต์ แต่ถ้ามีรูปแบบการใช้ชีวิตแบบนี้ก็เป็นชาวโมโซไปโดยปริยาย”
เริ่มแรกเราต้องรู้จัก “พอประมาณ” ในการใช้ชีวิตเสียก่อน ง่ายๆ เลย คือทำทุกอย่างให้อยู่ในความพอดี รู้จักขีดความสามารถของตัวเอง ไม่ทำอะไรเกินตัว รู้จักที่จะใช้ “เหตุผล” มากขึ้น เรียนรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่มากไป น้อยไป มีการไตร่ตรองเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียได้อย่างชัดเจน และเมื่อเรามีทั้งความ “พอประมาณ” บวกกับการใช้ “เหตุผล” ที่มากพอแล้ว ทั้งสองสิ่งจะสร้างให้เรามี “ภูมิคุ้มกัน” ต่ออุปสรรคและสารพัดปัญหาที่จะเข้าถึงตัวเราได้ ที่สำคัญเราจะต้องมีความรู้และคุณธรรมควบคู่กันไปด้วย
น้ำตาล-ปานวาด นิรันดร์กุล ได้ชื่อว่าเป็นสาวไฮโซเลือดใหม่ที่ขอปวารณาตัวเป็นชาวโมโซอีกคนหนึ่ง “โดยส่วนตัวน้ำตาลก็ใช้ชีวิตแบบชาวโมโซอยู่แล้วค่ะ พอรู้ว่ามีโครงการดีๆ แบบนี้จึงลงทะเบียนเข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วย แต่แค่ลงทะเบียนอย่างเดียวไม่ได้นะ…ต้องประพฤติตัวเป็นคนพอประมาณด้วย สิ่งที่น้ำตาลทำอยู่ตลอดคือจะใช้จ่ายของอย่างรู้คุณค่า ไม่ฟุ่มเฟือย อย่างเสื้อผ้าก็จะเอาตัวโน้นมาผสมกับตัวนี้ ไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่บ่อยๆ และไม่จำเป็นต้องเป็นของแบรนด์เนมเท่านั้น บางครั้งก็ผลิตของทำมือใช้เองแล้วก็มีเอาไปขายหารายได้เสริม ทำให้เรารู้จักพึ่งตัวเอง แบ่งเบาภาระพ่อแม่ และเป็นชาวโมโซอย่างภาคภูมิใจค่ะ”
ด้าน ประสิทธิ์ ดำรงค์สุวัฒน์ นักศึกษา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพิ่งได้ยินว่ามีชาวโมโซเมื่อไม่กี่วันก่อนจากทางวิทยุ คิดว่าเป็นเรื่องดีที่มีสังคมนี้เกิดขึ้น ซึ่งเขาก็เป็นคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตแบบพอประมาณอยู่แล้ว จึงสมัครเข้าเป็นสมาชิกของ www.mosothai.com
“ต้องเริ่มที่ตัวเรามีสติ รู้จักตัวเอง เริ่มจากเรื่องง่ายๆ เช่น ทานข้าวแค่ไหนให้พออิ่ม แล้วก็จะรู้จักพอในเรื่องอื่นๆ ทั้งการซื้อของ การทำงาน คือรู้ว่าอันไหนสมเหตุสมผลที่ควรจะมีจริงๆ หรือควรมี ควรได้ เพราะอยากมี อยากได้”
รับรองว่าหากเราสามารถนำหลักทั้ง 3 ข้อ ไปลงมือปรับใช้แก้ปัญหาวิกฤตของตัวเอง หรือหากนำไปบอกต่อกับคนรอบข้างให้ลองทำได้แล้ว ไม่ว่าอุปสรรคหรือปัญหาจะผ่านเข้ามาในรูปแบบใด ขอเพียงเรามีหัวใจที่พอเพียง รู้จักประมาณตน ลงมือแก้ไขด้วยเหตุและผล มีความระมัดระวังเป็นภูมิคุ้มกัน สังคมของเราก็จะมีทางความคิดที่ยั่งยืน สามารถผ่านพ้นและฝ่าฟันปัญหาต่างๆ ได้อย่างดีที่สุด
original link : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2552